Header Image
ย่านนวัตกรรมคลองสาน

ย่านนวัตกรรมคลองสาน

แนวทางการพัฒนาย่านนวัตกรรม
     จากผลการวิเคราะห์กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของการพัฒนาย่านนวัตกรรมคลองสาน จะพบจุดเด่นในการพัฒนาเป็นย่านนวัตกรรม คือ
     1) การเป็นย่านที่มีปัจจัยทางด้านกายภาพ โดยเฉพาะด้านคมนาคมที่คล่องตัว โดยมีทั้งการคมนาคมทางบก เช่น ถนนสายสำคัญ การมีรถไฟฟ้า และเป็นพื้นที่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีท่าเรือเพื่อการคมนาคมและขนส่งหลายแห่ง
     2) การเป็นย่านที่มีวัฒนธรรมมีประวิติยาวนาน เป็นทั้งแหล่งชุมชน และพื้นที่เศรษฐกิจดั้งเดิม เป็นย่านที่เงียบสงบ
     3) การเป็นย่านที่เป็นศูนย์กลางของฝั่งธนบุรี เชื่อมต่อกับพื้นที่เศรษฐกิจใจกลางเมือง

.

โอกาสในการพัฒนาย่านนวัตกรรม

     กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ให้ความเห็นในโอกาสของการพัฒนาเป็นย่านนวัตกรรมคลองสานในพื้นที่ โดยทางทีมวิจัยเลือกในประเด็นที่สอดคล้องกับจุดเด่นของพื้นที่เป็นสำคัญ
     1) เนื่องด้วยความเหมาะสมทางด้านกายภาพ ดังนั้นหากมีความต้องการปรับปรุงพื้นที่คลองสานเป็นย่านนวัตกรรม อาจจำเป็นต้องมีการสร้างจุดเด่นในการพัฒนา หรือสร้างนวัตกรรมที่สอดคล้องกับชุมชน
     2) ความมีชื่อเสียงของพื้นที่ และสภาวะเศรษฐกิจที่มีค่าครองชีพไม่สูงมากนัก อาจมีโอกาสในการพัฒนาที่เหมาะสม ประกอบกับมีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจใจกลางของประเทศ พื้นที่ของคลองสานจึงมีศักยภาพในการพัฒนาเป็นย่านนวัตกรรมค่อนข้างมาก

.

การวิเคราะห์คุณลักษณะศักยภาพเฉพาะของย่านนวัตกรรมคลองสาน

ศักยภาพเฉพาะของย่านนวัตกรรมคลองสาน
1) ศักยภาพผู้ประกอบการกลุ่ม Biotechnology ในพื้นที่คลองสาน
    ผู้ประกอบการกลุ่ม Biotechnology พบว่า ในพื้นที่เขตคลองสานมีจำนวนผู้ประกอบธุรกิจนวัตกรรมประเภทนี้ค่อนข้างมาก มีผู้ประกอบการตามโซ่อุปทานครบทุกช่วง มีผู้นำผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมหลายราย และเมื่อพิจารณาความเข้มแข็งของธุรกิจด้วยทุนจดทะเบียน พบว่า แม้ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนาดเล็ก มีสินทรัพย์ไม่สูงมาก แต่กลับมีผู้ประกอบการที่มีความเข้มแข็งจำนวนหนึ่ง ความสามารถสร้างรายได้ในกลุ่มผู้ประกอบการมีความน่าสนใจ

2) ศักยภาพผู้ประกอบการกลุ่ม Electronic ในพื้นที่คลองสาน
    ผู้ประกอบการกลุ่ม Electronic พบว่า ในพื้นที่เขตคลองสานมีจำนวนผู้ประกอบธุรกิจนวัตกรรมประเภทนี้จำนวนไม่มาก แม้จะมีผู้ประกอบการตามโซ่อุปทานครบทุกช่วง แต่ผู้ประกอบการช่วงกลางน้ำค่อนข้างน้อย มีผู้นำผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมน้อยราย และเมื่อพิจารณาความเข้มแข็งของธุรกิจด้วยทุนจดทะเบียน พบว่า แม้ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนาดเล็ก มีสินทรัพย์ไม่สูงมาก ความสามารถสร้างรายได้ของผู้ประกอบการบางรายมีความน่าสนใจ

3) ศักยภาพผู้ประกอบการกลุ่ม Network ในพื้นที่คลองสาน
    ผู้ประกอบการกลุ่ม Network พบว่า ในพื้นที่เขตคลองสานมีจำนวนผู้ประกอบธุรกิจนวัตกรรมประเภทนี้จำนวนมาก แม้จะมีผู้ประกอบการตามโซ่อุปทานครบทุกช่วง แต่ผู้ประกอบการช่วงกลางน้ำค่อนข้างน้อย มีผู้นำผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมน้อยราย และเมื่อพิจารณาความเข้มแข็งของธุรกิจด้วยทุนจดทะเบียน พบว่า แม้ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนาดเล็ก มีสินทรัพย์ไม่สูงมาก ส่วนมากเป็นกลุ่มผู้ประกอบการขายส่ง ความสามารถสร้างรายได้ของผู้ประกอบการค่อนข้างน้อยส่งผลให้เกิดการขาดทุนในผู้ประกอบการบางกลุ่ม

4) ศักยภาพผู้ประกอบการกลุ่ม Software ในพื้นที่คลองสาน
    ผู้ประกอบการกลุ่ม Software พบว่า ในพื้นที่เขตคลองสานมีจำนวนผู้ประกอบธุรกิจนวัตกรรมประเภทนี้ค่อนข้างมาก มีผู้ประกอบการตามโซ่อุปทานครบทุกช่วง มีผู้นำผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมหลายราย และเมื่อพิจารณาความเข้มแข็งของธุรกิจด้วยทุนจดทะเบียน พบว่า แม้ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนาดเล็ก มีสินทรัพย์ไม่สูงมาก แต่กลับมีผู้ประกอบการที่มีความเข้มแข็งจำนวนหนึ่งความสามารถสร้างรายได้ในกลุ่มผู้ประกอบการมีความน่าสนใจ

    โดยสรุปจากการวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจในพื้นที่คลองสาน จะพบความน่าสนใจในกลุ่มผู้ประกอบการกลุ่ม Biotechnology กลุ่ม Network และกลุ่ม Software เนื่องด้วยเป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพทางตลาดอย่างเข้มแข็ง สามารถพัฒนาไปเป็นผู้นำทางธุรกิจในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี

    โดยสรุป จากการวิเคราะห์ทั้งธุรกิจที่มีศักยภาพ ณ ปัจจุบัน และธุรกิจนวัตกรรมในพื้นที่ สามารถสรุปประเภทธุรกิจ/สถานประกอบการที่มีความสามารถในการพัฒนาย่านนวัตกรรมในพื้นที่คลองสานได้ คือ ผู้ประกอบการกลุ่ม ธุรกิจการผลิต ขายส่ง และขายปลีกของผู้ประกอบการที่มีความแข็งแกร่งด้านเครื่องหนัง ผ้า เครื่องหนัง ด้าย อัญมณีและโลหะ และกลุ่มผู้ประกอบการ กลุ่ม Biotechnology กลุ่ม Network และกลุ่ม Software

.

.

วิสัยทัศน์ และแนวคิดการวางผังพัฒนาพื้นที่ย่านนวัตกรรมคลองสาน

เป้าหมายและขอบเขตในการพัฒนาเป้าหมายย่านนวัตกรรมนั้นจะสอดคล้องกับระบบนิเวศนวัตกรรม (Innovation Ecology) คือการพัฒนาในด้านกายภาพ ด้านเศรษฐกิจ และด้านเครือข่าย

1) ด้านกายภาพ
    ในด้านกายภาพนั้นสามารถแบ่งออกเป็นสิ่งแวดล้อมและพื้นที่สีเขียว พื้นที่สาธารณะ พื้นที่ทางวัฒนธรรมพื้นที่อยู่อาศัย และพื้นที่สำหรับการประกอบอาชีพ โดยสิ่งแวดล้อม ต้องมีนวัตกรรมการจัดการคุณภาพน้ำ เพื่อฟื้นฟูศักยภาพของเครือข่ายคลอง ดึงเอาอัตลักษณ์เดิมของย่านกลับมาเป็นประสบการณ์ใหม่ของการใช้พื้นที่ในปัจจุบันและอนาคต เพิ่มทางเลือกการเดินทาง และเชื่อมต่อการขนส่งสาธารณะเข้ากับพื้นที่อาศัยส่วนใหญ่ของย่าน ลดภาระของเครือข่ายถนนที่หนาแน่นในปัจจุบันพื้นที่สาธารณะ เป็นโครงสร้างพื้นฐานของย่านที่จะสามารถดึงดูดการใช้งานของคน ให้กลายเป็นย่านที่มีชีวิต เกิดกิจกรรมการพบปะ และนำไปสู่การสร้างเครือข่ายระหว่างคนในย่าน พื้นที่สาธารณะจึงจำเป็นต้องตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เข้าถึงง่ายและสมเหตุสมผล เพื่อให้เกิดการใช้งานพื้นที่ทางวัฒนธรรม เนื่องจากคลองสานเป็นย่านสำคัญของฝั่งธนบุรีมีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานและเป็นที่ภาคภูมิใจของชาวฝั่งธนฯ พื้นที่ทางวัฒนธรรมจึงนับเป็นเอกลักษณ์ที่ส่งเสริมความสำคัญของย่าน เช่น พื้นที่การค้าดั้งเดิมพื้นที่ทางศาสนา และพื้นที่ตั้งของชุมชนดั้งเดิมพื้นที่อยู่อาศัย 
ปัจจุบันในย่านที่อยู่อาศัยเก่าแก่ได้ถูกรายล้อมไปด้วยอาคารสูง แม้ว่าสถิติของผู้อยู่อาศัยดั้งเดิมลดลงแต่จำนวนประชากรมีแนวโน้มหนาแน่นขึ้นตามการขยายของเมืองพร้อมกับการคมนาคมที่มาถึง ทำให้พื้นที่คับแคบและมีราคาแพงขึ้นเรื่อย ๆ การใช้ประโยชน์อาคารแบบผสมผสาน (Mixed-Use) จึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกับการสร้างกายภาพของย่านนวัตกรรมส่งเสริมให้เกิดการกระชับของพื้นที่ (Compact City) ไม่ก่อให้เกิดการกระจายตัวอย่างไร้ทิศทาง และสามารถสร้างมาตรการที่เอื้อประโยชน์ด้านที่อยู่อาศัยแก่คนทุกกลุ่มได้พื้นที่สำหรับการประกอบอาชีพ คลองสานมีต้นทุนทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและภูมิปัญญาอยู่ใน 3 กิจการ คือ อาหาร เครื่องหนังและครื่องประดับ ซึ่งกิจการเหล่านี้อยู่รวมกันเป็นกลุ่มแยกตามย่านถนนที่ชัดเจน รวมถึง มีพื้นที่อุตสาหกรรมและโกดังเก่าที่มีศักยภาพในการถูกพัฒนากลับมาเป็นจุดดึงดูดของย่าน ซึ่งสามารถโยงไปถึงการพัฒนาในด้านเศรษฐกิจได้

2) ด้านเศรษฐกิจ
    การพัฒนาด้านเศรษฐกิจนั้นจะเน้นที่การสร้างผลิตภัณฑ์และบริการด้านนวัตกรรมโดยการจับคู่ธุรกิจดั้งเดิมที่มีศักยภาพได้แก่ กลุ่มอาหาร การค้าเครื่องหนังและอัญมณีเครื่องประดับ เข้ากับกลุ่มธุรกิจนวัตกรรมใหม่ เช่น กลุ่ม Biotechnology, กลุ่ม Network, และกลุ่ม Software โดยมีมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรีเป็นองค์กรหลักในการพัฒนานวัตกรรม (Academic Research Lead) เช่น การสร้างนวัตกรรมในกลุ่มชีวภาพและสุขภาวะ กลุ่มเทคโนโลยีสวมใส่ได้ (Wearable Technology) กลุ่มพลังงานทางเลือก เป็นต้น ผลิตภัณฑ์และบริการใหม่เหล่านี้จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของย่านด้วยอุปสงค์และอุปทานใหม่ และสร้างอัตลักษณ์ใหม่ของย่านด้วยธุรกิจนวัตกรรมที่มีรากฐานมาจากธุรกิจเดิม

3) ด้านเครือข่าย
    เครือข่ายคนสามารถสร้างได้ด้วยการสร้างพื้นที่และกิจกรรม การสร้างพื้นที่ทางกายภาพที่เป็นสาธารณะและเข้าถึงได้ง่าย เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะรองรับการสร้างกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้คนได้ออกมาพบปะกันก็เป็นอีกแนวทางหนึ่ง ในเชิงการสร้างเครือข่ายเพื่อให้เกิดธุรกิจนวัตกรรมอาจได้แก่การจัด Meetups, Networking Events ที่มีจุดประสงค์และบรรยากาศที่เฉพาะเจาะจงนอกจากนั้นแล้วการสร้างเครือข่ายออนไลน์ก็เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่เข้าถึงและพัฒนาได้ง่ายในปัจจุบัน เริ่มได้จากการวางระบบการสื่อสารที่ครอบคลุม (Wifi Coverage)

.

ย่านนวัตกรรมคลองสาน “เป็นพื้นที่นวัตกรรมในการพัฒนาองค์ความรู้ รังสรรค์ผลิตภัณฑ์ประยุกต์กลไกขับเคลื่อนและนโยบาย ด้วยวิทยาการและความคิดสร้างสรรค์ เพื่อสร้างความเป็นเอกลักษณ์เชิงบวกของพื้นที่ โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน หน่วยงาน องค์กรในพื้นที่และภาคีใหม่” จะสามารถกำหนดรูปแบบการพัฒนาย่านนวัตกรรมคลองสานในแบบ “การพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมโดยนำชุมชนเป็นฐาน (Communty-Based Innovation)” โดยมีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในการเป็นตัวกลาง และเชื่อมหลักไปยังกลุ่มผู้ประกอบการและชุมชน เพื่อให้แนวทางการพัฒนาครอบคลุมไปยังวิถีการใช้ชีวิต และวัฒนธรรมของพื้นที่เป็นสำคัญ อีกทั้งยังคงให้ความสำคัญกับภาคส่วนต่าง ๆ ในพื้นที่ด้วยแสดงแผนนวัตกรรมพื้นที่เมือง MixedIncome Ages and Culture เพื่อสร้าง Innovation Ecosystem อย่างแท้จริง


Line QRCode

คะแนนโหวต :
ImageImageImageImageImage