Header Image
ย่านนวัตกรรมกล้วยน้ำไท

ย่านนวัตกรรมกล้วยน้ำไท

ช่วงพัฒนาเป็นย่านกล้วยน้ำไทลงทุนสมัยใหม่ (พ.ศ. 2531-ปัจจุบัน)
   ในปี พ.ศ. 2531 รัฐบาลโดยนายกชาติชาย ชุนหะวัณ ดำเนินนโยบายพัฒนาประเทศให้เป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (Newly Industrialized Countries:NIC) ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจภาคเกษตรกรรมไปเป็นภาคอุตสาหกรรม โดยมีการลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศมากขึ้น
   ในปี พ.ศ. 2533 รัฐบาลได้ดำเนินการสร้างท่าเรือใหม่ที่แหลมฉบัง เพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ เศรษฐกิจของท่าเรือคลองเตยจึงได้ลดอัตราความเจริญเติบโตพื้นที่ท่าเรือเริ่มเป็นที่สนใจของนักลงทุนในปี พ.ศ. 2542 มีการเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าเริ่มจากการรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิท สถานีหมอชิตถึงสถานีอ่อนนุช สภาพพื้นที่ตามแนวถนนสุขุมวิทเปลี่ยนสภาพจากที่เป็นย่านพักอาศัยบ้านเดี่ยวปรากฏเป็นอาคารสูง
   นับจากปี พ.ศ. 2540 เกิดการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในโครงการทั้งโครงการขนาดเล็กและใหญ่บริเวณถนนสุขุมวิท มีการก่อสร้างอาคารสูง ทั้งคอนโดมิเนียม สำนักงาน โรงพยาบาล ศูนย์สรรพสินค้า ร้านอาหารจากต่างประเทศ บริเวณท่าเรือคลองเตยมีการเสนอแผนโครงการพัฒนาที่ดินคลองเตยคอมเพล็กซ์ โดยรัฐบาลนายกทักษิณ ชินวัตร เพื่อพัฒนาพื้นที่เป็นศูนย์โทรคมนาคม โรงแรม และท่าเรือ ต่อมาโครงการดังกล่าวถูกล้มเลิกไป แต่อย่างไรก็ดียังมีความพยายามในการจัดทำข้อเสนอโครงการพัฒนาที่ดินท่าเรืออยู่เรื่อยมาอย่างต่อเนื่อง
   ในช่วง 2-3 ทศวรรษนี้ มีแรงงานต่างถิ่นหลั่งไหลเข้ามาทำงานในท่าเรือคลองเตย ชุมชนแออัดจึงเผชิญกับปัญหาคนต่างถิ่นและการระบาดของยาเสพติดรวมถึงปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง แต่ในขณะเดียวกัน ชุมชนได้พยายามสร้างกระบวนการพัฒนารูปแบบใหม่ โดยทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษา
ในช่วงปี พ.ศ. 2550 ระบบทางด่วนและรถไฟฟ้าขยายตัวออกไปถึงรอบนอกกรุงเทพฯ เชื่อมโยงกับภูมิภาคต่าง ๆ ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศอาเซียน โครงสร้างประชากรในย่านกล้วยน้ำไทเริ่มมีความหลากหลาย มีทั้งคนไทยจีนดั้งเดิม คนในชุมชนดั้งเดิม คนชั้นกลาง คนต่างชาติใหม่ และแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ใหม่
   ในปี พ.ศ. 2558 – ปัจจุบัน รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาเชิงพื้นที่ ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคี เพื่อสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ท่าเรือคลองเตยยังคงได้รับความสนใจจากนักลงทุนเพื่อพัฒนาให้เป็นแลนด์มาร์คของประเทศ ในขณะที่ย่านกล้วยน้ำไทซึ่งมีหลายภาคีก็กำลังเผชิญกับความท้าทายในการกำหนดอนาคต

.

การวิเคราะห์คุณลักษณะศักยภาพเฉพาะของย่านนวัตกรรมกล้วยน้ำไท
   ศักยภาพเฉพาะของย่านนวัตกรรมศักยภาพเชิงพื้นที่ย่านกล้วยน้ำไทมีกรอบในการประเมิน จากความสมบูรณ์ของระบบนิเวศเชิงนวัตกรรมผ่านการสำรวจสินทรัพย์ 3 ด้าน คือ
1) สินทรัพย์ด้านกายภาพและสภาพแวดล้อมภายในพื้นที่
2) สินทรัพย์เชิงเศรษฐกิจภายในย่าน 
3) สินทรัพย์ด้านการสร้างเครือข่ายและการรวมตัวของกลุ่มอุตสาหกรรมและธุรกิจในพื้นที่

.

1) สินทรัพย์ด้านกายภาพและสภาพแวดล้อมภายในพื้นที่
   การพัฒนาพื้นที่กล้วยน้ำไทสู่การเป็นย่านนวัตกรรมนั้นมีโอกาสค่อนข้างสูง เนื่องจากพื้นที่ย่านกล้วยน้ำไทตั้งอยู่ใจกลางเมืองซึ่งเป็นพื้นที่ว่างและมีอาคารที่ใช้งานแบบผสมผสานมากมาย รวมถึงการลงทุนพัฒนาศักยภาพของถนนพระรามที่ 4 ที่สามารถรองรับการพัฒนาในอนาคตได้ นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่เชื่อมต่อกับเขตเมืองชั้นในและพื้นที่ศูนย์กลางธุรกิจของกรุงเทพมหานครด้านถนนสีลม-สาทร และการเข้าถึงถนนสุขุมวิทได้อย่างสะดวก มีพื้นที่นันทนาการต่าง ๆ ที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของย่าน และที่สำคัญมีพื้นที่รองรับการอยู่อาศัยและสำนักงานให้เช่าในราคาที่สามารถจ่ายไหวสำหรับผู้เริ่มต้นการทำธุรกิจนวัตกรรม

2) สินทรัพย์เชิงเศรษฐกิจภายในย่าน
   การพิจารณาสินทรัพย์เชิงเศรษฐกิจจะประเมินจากข้อมูลกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย กลุ่มอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับการผลิต และข้อมูลบริษัทที่ดำเนินกิจการอยู่ดังนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S-curve & Creative Industries) มีจำนวน 162 อาคาร รวมพื้นที่อาคารทั้งหมดประมาณ 130,833 ตารางเมตร

   บริษัทที่ดำเนินกิจการ จำนวน 1,632 กิจการโดยพบว่า เป็นบริษัทขนาดใหญ่ 60% SME 39% และเป็น Startup 1.7% สำหรับ จำนวน Startups ที่เป็นไปได้ในการผลักดันให้เพิ่มขึ้นอยู่ที่ประมาณ 2,000 คนซึ่งพิจารณาจาก นักศึกษาปริญญาโทคณะต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และนักศึกษาปริญญาตรีในคณะการสร้างผู้ประกอบการของมหาวิทยาลัยกรุงเทพทั้งหลักสูตรไทยและนานาชาติ ในวิทยาเขตกล้วยน้ำไทอย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาข้อมูลสินทรัพย์เชิงเศรษฐกิจดังกล่าวสามารถสรุปได้ว่า ย่านกล้วยน้ำไทมีความเป็น Mixed-Use Area ซึ่งมีความเหมาะสมกับผู้เริ่มธุรกิจนวัตกรรม การเพิ่มจำนวน Startups จึงเป็นประเด็นท้าทายในลำดับแรก ๆ ของการผลักดันย่านกล้วยน้ำไทสู่การเป็นย่านนวัตกรรม

3) สินทรัพย์ด้านการสร้างเครือข่ายและการรวมตัวของกลุ่มอุตสาหกรรมและธุรกิจ
   ในการสำรวจศักยภาพของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในย่านเริ่มจากการจัดกิจกรรมเสวนากลุ่มย่อย (Focus Group) จำนวนทั้งหมด 74 ท่าน พบว่า บทบาทของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในแต่ละกลุ่มเป็นระบบนิเวศหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนการเกิด Startups ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามการมีอยู่ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียดังกล่าวยังมีลักษณะไม่เชื่อมโยงกัน ต่างคนต่างขับเคลื่อนในบทบาทของตนเองขาดการประสานและขาดแผนการพัฒนาในทิศทางเดียวกัน ซึ่งเชื่อว่าเมื่อประสานและได้รู้ถึงทรัพยากรที่แต่ละกลุ่มมีอยู่ การแบ่งปันทรัพยากรร่วมจะเอื้อประโยชน์ให้กับทุกฝ่ายได้อย่างเหมาะสม จะนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของนวัตกรและการเกิดนวัตกรรมที่มีฐานมาจากอุตสาหกรรมในย่านอย่างแท้จริง

   จากการวิเคราะห์ศักยภาพของพื้นที่ทำให้สามารถสรุปได้ว่า ย่านกล้วยน้ำไทเป็นย่านที่มีศักยภาพในการพัฒนาต่อยอดพื้นที่อุตสาหกรรมเดิมจากยุคไทยแลนด์ 2.0 และ 3.0 สู่กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และนวัตกรรมในอนาคตเพื่อยกระดับการแข่งขันทางเศรษฐกิจของย่าน และพัฒนาพื้นที่สู่การเป็นย่านนวัตกรรม โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมจากการต่อยอดกลุ่มอุตสาหกรรมเดิม เช่น การสร้างศูนย์รวมกลุ่มอุตสาหกรรมสื่อสมัยใหม่บริเวณย่านอาคารสำนักงานใกล้อาคารมาลีนนท์ทาวเวอร์การสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ด้านศิลปะบริเวณแยกพระโขนง และการส่งเสริมการสร้างศูนย์กลางธุรกิจการค้าแบบออนไลน์หรือ E-Commerce ในระดับภูมิภาคในบริเวณท่าเรือกรุงเทพ ดังภาพที่ 40 โดยมีพื้นที่มหาวิทยากรุงเทพวิทยาเขตกล้วยน้ำไทเป็นศูนย์กลางด้านการสร้างองค์ความรู้และการสร้างนวัตกรรมของย่านกล้วยน้ำไทในอนาคต

.

วิสัยทัศน์ และแนวคิดการวางผังพัฒนาพื้นทีย่านนวัตกรรมกล้วยน้ำไท

เป้าหมายและขอบเขตในการพัฒนา
   เป้าหมายหลักในการพัฒนาย่านนวัตกรรมกล้วยน้ำไทมีทั้งสิ้น 3 ประการ คือ 1) การดึงดูดกลุ่มวิสาหกิจเริ่มต้น 2) การพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตภายในย่าน 3) ภายในย่านต้องมีศักยภาพในการพัฒนานวัตกรรมที่สามารถแข่งขันได้ และกิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจภายในย่านต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบใช้พื้นที่ 24 ชั่วโมง ดังนั้นการพัฒนาย่านนวัตกรรมจำเป็นต้องสร้างรูปแบบการใช้พื้นที่ที่มีความหลากหลายและตอบสนองการใช้ชีวิตในด้านต่าง ๆ โดยการพัฒนาพื้นที่ 4 องค์ประกอบหลักของย่าน
1) พื้นที่ทางเศรษฐกิจการผลิตสำคัญของย่าน (Innovative Industries Sector: WORK)
2) พื้นที่รองรับการดำเนินชีวิตภายในย่าน (Services and Support Areas: LIVE)
3) พื้นที่สีเขียวและพื้นที่กิจกรรมนันทนาการภายในย่าน (Park and Recreation Facilities: PLAY)
4) พื้นที่เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของย่าน (Learning and Skill Improvement Facilities: LEARN) 
ซึ่งการพัฒนาพื้นที่ทั้ง 4 องค์ประกอบภายในย่านนั้น ต้องอาศัยการขับเคลื่อน

.

ขอบเขตในการพัฒนา
   เพื่อให้กลไกการพัฒนานวัตกรรมภายในย่านขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยกรุงเทพและหน่วยงานสถาบันวิจัยในพื้นที่จะเป็นเฟืองตัวแรกในการดำเนินการ โดยทำหน้าที่เป็นศูนย์แบ่งปันองค์ความรู้ เชื่อมโยงกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลบริเวณถนนพระรามที่ 4 ต่อไปยังถนนสุขุมวิท เช่น บริเวณแยกพระโขนง และซอยเอกมัย เข้ากับกลุ่มอุตสาหกรรม การผลิตและการขนส่งสินค้าอุตสาหกรรมหนัก เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมโลหะ เครื่องหนัง เย็บผ้า และการขนส่ง ในบริเวณถนนสุขุมวิทสายเก่าและพื้นที่ของการท่าเรือกรุงเทพ อันจะนำไปสู่การเกิดอุตสาหกรรมและธุรกิจใหม่ ๆ บนฐานอุตสาหกรรมเดิมที่ใช้องค์ความรู้เป็นพื้นฐานในการสร้างมูลค่า

.

   เมื่อการพัฒนาย่านนวัตกรรมบนฐานของการต่อยอดกลุ่มอุตสาหกรรมเดิมได้ถูกส่งเสริมอย่างจริงจัง ย่านนวัตกรรมกล้วยน้ำไทจะกลายเป็นศูนย์กลางธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และอุตสาหกรรมด้านดิจิตอล เช่น ศูนย์กลางของระบบขนส่งอัจฉริยะ พื้นที่สนับสนุนกิจกรรมการทำงานและนันทนาการต่าง ๆ ไม่ว่าจะมีพื้นที่โกดังว่างที่สามารถปรับปรุงเป็นพื้นที่ทำงานร่วมกัน หรือพื้นที่รองรับกิจกรรมด้านการผลิตสื่อสมัยใหม่ รวมถึงพื้นที่ด้านวัฒนธรรม และพื้นที่สร้างองค์ความรู้ต่าง ๆ เช่น ศูนย์แสดงงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พิพิธภัณฑ์ และพื้นที่แสดงงานศิลปะ พื้นที่เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นพื้นที่ส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมทั้งสิ้นยิ่งไปกว่านั้นด้วยย่านมีพื้นที่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีการใช้ประโยชน์ยังไม่เต็มศักยภาพ ซึ่งในปัจจุบันเจ้าของพื้นที่หรือการท่าเรือแห่งประเทศไทยใช้พื้นที่นี้รองรับกิจกรรมด้านการขนส่งเป็นหลัก โดยคิดเป็นพื้นที่เพียงร้อยละ 30 ของพื้นที่ทั้งหมด 1,000 ไร่ เมื่อพิจารณาร่วมกับแนวทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนภายในย่าน พบว่า พื้นที่ริมแม่น้ำดังกล่าวมีศักยภาพสูงในการเป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวและพักผ่อนของประชาชนในเขตเมือง นักท่องเที่ยว ตลอดจนกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและธุรกิจจากต่างประเทศ

   ในเชิงยุทธศาสตร์จึงมองถึงการสร้างความเชื่อมโยงกับพื้นที่ริมน้ำดังกล่าวเข้ากับถนนสุขุมวิทที่มีความหนาแน่นสูงทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคมและการท่องเที่ยว ผ่านระบบขนส่งมวลชนเข้าสู่ริมแม่น้ำเพื่อดึงดูดกลุ่มนักลงทุน และนักท่องเที่ยวเข้าสู่พื้นที่ตลอดจนสามารถเชื่อมโยงข้ามแม่น้ำไปยังพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ของสวนสาธารณะนครเขื่อนขันธ์ เส้นทางการเข้าถึงพื้นที่ริมน้ำนี้จะส่งผลกระทบต่อการปรับปรุงพื้นที่โดยรอบ และการปรับเปลี่ยน รูปแบบการใช้พื้นที่ในย่านนวัตกรรมกล้วยน้ำไทในอนาคตอย่างมหาศาล


Line QRCode

คะแนนโหวต :
ImageImageImageImageImage