DryDye นวัตกรรมย้อมผ้ารักษ์โลก
สิ่งหนึ่งที่จะทำให้ธุรกิจครอบครัวมีโอกาสรอดสืบต่อไปจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน นอกจากจะต้องมีการวางแผนการสืบทอดกิจการจัดสรรผลประโยชน์อย่าลงตัวเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในอนาคต รวมถึงมีธรรมนูญครอบครัวที่ชัดเจนแล้ว สิ่งสำคัญคือการต่อยอดกิจการด้วยความคิดสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมสินค้าหรือโมเดลธุรกิจใหม่อยู่เสมอ
วันนี้เรามีตัวอย่างธุรกิจครอบครัวหนึ่งที่ทำโรงงานสิ่งทอตั้งแต่ทอผ้าจนถึงการ์เม้นต์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่หลายคนคิดว่าอยู่ในช่วง Sunset ไม่น่าจะเติบโตไปกว่านี้ ทว่าสามารถสร้างจุดเปลี่ยนให้กับวงการสิ่งทอได้ นั่นก็คือ บริษัท แซดเอส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้คิดค้นวิธีการย้อมผ้าภายใต้แบรนด์ DryDye
สานต่อธุรกิจครอบครัวด้วยนวัตกรรม
พิชญ์สินี เย่ Marketing & Visual Designer บริษัท แซดเอส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นเจนเนอเรชั่นที่ 3 ที่เข้ามารับช่วงต่อธุรกิจครอบครัว “เย่กรุ๊ป” ที่ดำเนินธุรกิจด้านรับจ้างผลิตผ้าให้กับแบรนด์ต่างๆ มากว่า 30 ปี ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาสิ่งที่ทำให้เย่กรุ๊ปแตกต่างจากคู่แข่งในตลาดก็คือการให้ความสำคัญกับการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งดูเหมือนจะกลายเป็นดีเอ็นเอส่งทอดต่อมาถึงเธอในวันที่ต้องมารับช่วงต่อกิจการ เนื่องจากมีเป้าหมายที่จะพลิกธุรกิจครอบครัวให้เติบโตด้วยนวัตกรรมและไอเดียใหม่ๆ เช่นกัน
“จำได้ว่าตั้งแต่เด็ก อากงมักจะพาหลานๆ ไปเดินโรงงานและพูดเสมอว่า สิ่งที่อากงให้ความสำคัญกับบริษัทมีอยู่ 2 อย่าง คือนวัตกรรมและคนในองค์กร เพราะทั้ง 2 อย่างนี้จะทำให้ธุรกิจก้าวหน้าไปได้ ซึ่งกลายมาเป็น Mindset ที่ทำให้เราใฝ่หาความรู้อยู่ตลอดเวลา”
ดังนั้นหลังจากจบการศึกษาทางด้านสิ่งทอ พิชญ์สินี ตัดสินใจหาประสบการณ์การทำงานจากบริษัทสตาร์ทอัพแฟชั่นเสื้อผ้าก่อนที่จะเข้ามาที่นี่ นอกจากนี้ยังนำปัญหาที่เกิดขึ้นในธุรกิจสิ่งทอที่สร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมมาหาทางออกด้วยนวัตกรรมการย้อมผ้าแบบใหม่ภายใต้แบรนด์ DryDye ได้เป็นครั้งแรกของโลกตั้งแต่ปี 2012 ปัจจุบันบริษัทใช้นวัตกรรมดังกล่าวผลิตชุดกีฬาและชุดชั้นในให้กับแบรนด์ชั้นนำเกือบทุกแบรนด์ อาทิ ADIDAS, MIZUNO, DECATHLON, ODLO และการผลิตเสื้อวิ่งให้กิจกรรมวิ่งมินิมาราธอนการกุศล อย่างเช่นงาน TMB I ING PARKRUN 2018
DryDye ถือได้ว่าเข้ามาปฏิวัติกระบวนการย้อมผ้าแบบแห้งในเวลาเดียวกันได้สะท้อนชื่อแบรนด์อย่างตรงตัวตามคำว่า Dry แปลว่า “แห้ง” และ Dye ที่แปลว่า “ย้อม”
จากเดิมขั้นตอนการย้อมแบบใช้น้ำโดยปกติเสื้อ 1 ตัวใช้น้ำสูงถึง 25 ลิตร แต่ขั้นตอนของ DryDye ทั้งหมดไม่มีการใช้น้ำแม้แต่หยดเดียว แต่ใช้คาร์บอนไดออกไซด์ Critical Carbondioxide จึงไม่ต้องมีระบบบำบัดน้ำเสีย อีกทั้งคาร์บอนไดออกไซด์และผงย้อมจะสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้กว่า 95% ข้อดีของการย้อมผ้าด้วยวิธีนี้ นอกจากไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางน้ำ ประหยัดเวลาการย้อมผ้า และเพิ่มปริมาณการดูดซึมสีย้อมบนวัสดุสิ่งทอแล้ว ยังประหยัดพลังงาน เพราะลดขั้นตอนการทำผ้าให้แห้งจึงไม่จำเป็นต้องเติมสารช่วยย้อม โดยย้อมแบบใช้น้ำใช้เวลาประมาณ 8 ชั่วโมง ส่วน DryDye ใช้เวลาเพียง 3 ชั่วโมง ซึ่งนิยมใช้กับผ้าจำพวกโพลีเอสเตอร์ ไมโครไฟเบอร์ และไนลอน แต่ยังมีข้อจำกัดในส่วนของผ้าจากเส้นใยธรรมชาติ เรียกได้ว่าเป็นขั้นตอนที่ลดได้ทั้ง Carbon Footprint และ Water Footprit ให้กับวงการสิ่งทอ “เรามองว่าน้ำ 25 ลิตรเป็นปริมาณที่เยอะๆ มากสำหรับการนำมาย้อมผ้า 1 ตัว และยังทำลายสิ่งแวดล้อมด้วย หากเราไม่ต้องใช้น้ำในการย้อมแล้ว น้ำ 25 ลิตรก็จะถูกนำไปใช้ประโยชน์ในแง่การบริโภคซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรที่คุ้มค่ามากกว่า”
ใช้ความจริงใจเอาชนะคนในองค์กร
อย่างไรก็ดี บททดสอบที่ทายาทธุรกิจครอบครัวต้องเจอก็คือการบริหารคนในองค์กร โดยเฉพาะเย่กรุ๊ปเป็นธุรกิจที่ทำมานาน 30 ปี ย่อมประกอบไปด้วยคนหลายรุ่น แม้พนักงานส่วนใหญ่ในโรงงานจะรู้จักและเห็น พิชญ์สินี มาตั้งแต่เด็กก็ตาม แต่นั่นย่อมเป็นมุมมองที่แตกต่างจากการมาเป็นเจ้านายคนใหม่
“ยอมรับว่าเป็นเรื่องยากมาก เพราะเราอยู่ในธุรกิจที่มีความอ่อนไหวในเรื่องของคน คนส่วนใหญ่อยู่มาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ และเขาไม่ได้เห็นเราเป็นเพื่อนร่วมงาน แต่เป็นลูกเป็นญาติของธุรกิจครอบครัวที่เห็นเรามาตั้งแต่เด็ก ต้องบอกว่าการเอาชนะใจคน คงชนะใจไม่ได้ทุกคน แต่เรามีความคิดว่า ถึงเราจะไม่ใช่คนที่เก่งที่สุด แต่จะเป็นคนที่ตั้งใจที่สุด โดยรับฟังทุกความคิดเห็นคำติชมมาเรียนรู้พัฒนาการทำงาน ประกอบกับซื่อสัตย์ ขยัน อดทน อันเป็นตัวตนของเรา อยากให้พนักงานทุกคนยอมรับเราในแบบนั้นก็จะทำให้ทุกคนเดินไปด้วยกันได้”
ความคาดหวังก็เป็นอีกหนึ่งบททดสอบ แต่ พิชญ์สินี นำมาใช้เป็นแรงผลักดันที่จะพลิกธุรกิจให้เติบโตแบบก้าวกระโดด
“คนส่วนใหญ่ชอบคิดว่าการทำธุรกิจครอบครัวเป็นเรื่องง่าย เพราะมีต้นทุนในระดับหนึ่งแล้วไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ อันนี้ก็จริงแต่ในทางกลับกันเราจะต้องหาทางครีเอทอะไรใหม่ๆ เพื่อต่อยอดธุรกิจเดิม ต้องหาทางที่จะก้าวกระโดดให้ได้ เพื่อพิสูจน์ให้ครอบครัวเราและพนักงานทุกคนเห็นว่า การที่เรามารับช่วงต่อนั้นเป็นประโยชน์และทำให้องค์กรเติบโตจริงๆ”
คิดค้นต่อเนื่อง ไม่หยุดพัฒนา
จากดีเอ็นเอของการพัฒนาที่ไม่หยุดนิ่งและมุ่งเน้นการลงทุนกับนวัตกรรมใหม่ๆ พิชญ์สินี จึงไม่หยุดไว้ที่ DryDye เท่านั้น ล่าสุดมองหาโอกาสจากวิกฤต COVID-19 พัฒนาสินค้าใหม่เข้ามาตอบโจทย์วงการสิ่งทอ ท่ามกลางสถานการณ์ดังกล่าว ภายใต้แบรนด์ Maftex โดยเป็นเสื้อที่ป้องกันการติดต่อของเชื้อไวรัส COVID-19 ซึ่งเป็นเทคนิคการทอผ้าที่เราออกแบบให้เป็นเนื้อผ้า PPE มีความหนา 3 ชั้น ป้องกันเชื้อโรคผ่านเข้าไปในเยื้อหุ้มเซลล์ เหมาะแก่การสวมใส่เวลาออกนอกบ้าน
“เราสนุกกับการที่ได้คิดค้นอะไรใหม่ๆ และอยากให้เรื่องสิ่งทอไม่ได้ทำหน้าที่เพื่อสวมใส่เท่านั้น แต่ยังเป็นนวัตกรรมที่มีฟังก์ชั่นอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อผู้สวมใส่ สิ่งแวดล้อม และเข้ามามีส่วนแก้ปัญหาในสถานการณ์ต่างๆ”
สุดท้ายนี้ พิชญ์สินี ในฐานะเจ้าของไอเดียการย้อมผ้าแห้งเจ้าแรกของโลก อยากจุดประกายให้ผู้ผลิตผุดไอเดียใหม่ๆ เพื่อให้วงการอุตสาหกรรมสิ่งทอและการย้อมสีเติบโต ที่สำคัญอยากให้รู้ว่าคนไทยก็มีศักยภาพในการพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ขึ้นบนโลกนี้
“จริงๆ คนไทยเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ เห็นได้จากเวทีนิลมังกรของ NIA เป็นโครงการหนึ่งที่ทำให้เรารู้ว่าเมืองไทยเต็มไปด้วยผู้ประกอบการที่มีหัวใจคิดค้นนวัตกรรม และเวทีนี้ยังสร้างเครือข่ายให้ทุกคนแชร์ประสบการณ์ เปิดโอกาสให้ทุกคนท่องโลกธุรกิจ และสามารถต่อยอดไอเดียไปได้อีกมากมาย”
ที่มา : BrandAge Online Oct 18, 2021